การประชุมนำเสนอผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ประเด็นนโยบายสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อผลักดันข้อเสนอเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ กรณี อบจ.นครราชสีมา
การประชุมนำเสนอผลเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ (Public Influencing) ประเด็นการขับเคลื่อนนโยบาย “การดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมสบายโฮเทล จ.นครราชสีมา ที่ผ่านมา
การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยโครงการพัฒนารูปแบบในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งในพื้นที่วิจัย โดยกิจกรรมที่ผ่านมาดำเนินการโดย ผศ.ดร.วลัญช์ชยา เขตบำรุง ผู้ร่วมวิจัยในโครงการฯ และทีมวิจัยในระดับพื้นที่ ดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ในประเด็นนโยบาย “การดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นบทบาทภารกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ในวันดังกล่าวเปิดเวทีด้วยการแสดงของชมรมผู้สูงอายุ รพ.สต.หนองขาม อ.พิมาย จ.นครราชสีมา จากนั้นเป็นการให้ข้อเสนอแนะผลการประเมินผลักดันนโยบาย “การดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” ของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1) นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา 2) นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯที่ 11 นครราชสีมา 3) ผศ.ดร.วิทชย เพชรเลียบ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล 4) ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จังโกฏิ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 5) นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้ร่วมเสวนาให้ข้อคิดเห็น บทบาทการทำงานของแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งให้แนวทางการนำผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ไปดำเนินการตามบทบาทของหน่วยงาน
ช่วงบ่ายมีเวทีแลกเปลี่ยนสรุปบทเรียนจากการดำเนินโครงการวิจัยฯ มีผู้เข้าร่วมเสวนาที่เป็นผู้แทนหน่วยงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย “การดูแลสุขภาพชีวิตผู้สูงอายุ” ได้แก่ 1) นายนิธิกร เชิญกลาง ผู้แทนชมรมผู้สูงอายุ รพ.สต.หนองขาม ต.หนองระเวียง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา 2) นางอารี เชิญกลาง ผู้แทนจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุ 3) นายสุชาติ บุณยภากร ผอ.รพ.สต.หนองขาม 4) นางยุวดี ใสเหลื่อม หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา 5) ผศ.ดร.วลัญช์ชยา เขตบำรุง ผู้ร่วมวิจัยในโครงการ และ6) ดร.เอกสิทธิ์ อักษร ผอ.ส่วนแผนสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ในช่วงเสวนาได้แลกเปลี่ยนประโยชน์ที่ได้จากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ผู้ร่วมกระบวนการวิจัยได้สะท้อนถึงสิ่งที่ได้รับจากการดำเนินงานที่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง วิเคราะห์ประเด็นที่ต้องการดำเนินการประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งกระบวนการพัฒนาแกนนำ หรือครู ก. ได้รับการพัฒนาทักษะ กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ แล้วนำไปปฏิบัติการในพื้นที่ของตนเอง เป็นการขยายแกนนำ และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนเข้าร่วมดำเนินการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน ทำให้รับทราบ สถานการณ์ปัญหา และนำผลที่ได้วิเคราะห์ให้เห็นผลการประเมินของชุมชน ในส่วนที่พื้นที่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ ชุมชนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น แล้วนำผลการประเมินเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ พบการเปลี่ยนแปลงสำคัญของชุมชนที่ร่วมประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุภาพของตนเอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อเสนอ และทิศทางการดำเนินที่ชัดเจน เพื่อดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุในจังหวัดต่อไป